โรค SLE ตอนที่ 1
โรค SLE คืออะไร
แอดมินของประเดิม Blog นี้ด้วยโรคแรกคือโรค SLE เนื่องจากมีคนที่แอดมินรู้จักดีคนหนึ่งเป็นโรคนี้อยู่ เธอต่อสู้กับโรคนี้กว่าสิบกว่าปีแล้ว เธอจะมาเล่าเรื่องราวของเธอเพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นกำลังใจให้ชาว SLE ทั้งหลายในตอนสุดท้ายของบทความเรื่องโรค SLEเริ่มแรกเรามารู้จักโรค SLE ก่อนนะคะว่า คืออะไร มีสาเหตุจากอะไรบ้าง
โรค SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus หรือ โรคลูปัส คนไทยบางคนอาจจะเรียกว่าโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งโดยคนส่วนมากไม่ค่อยรู้จักโรคนี้เท่าไรนักเพราะเป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก จากรายงานในต่างประเทศโดยเฉลี่ยจะพบผู้ป่วยโรคนี้ ประมาณ 1 ใน 1000 คน แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้จักโรคนี้มากขึ้นก็เพราะการเสียชีวิตของนักร้องชื่อดัง คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ดังนั้นถ้าบอกว่าเป็นโรคพุ่มพวง หลายคนก็จะร้องอ๋อ ขึ้นมาทันที สำหรับบล็อกนี้แอดมิน ขอเรียกว่า โรค SLE แล้วกันนะคะ เพราะชินกับคำนี้มากกว่า
โรค SLE เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ กลับมาทำลายเซลล์ และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของตนเอง จนก่อให้เกิดการอักเสบได้เกือบทุกอวัยวะของร่างกาย เช่น ระบบผิวหนัง, ระบบประสาท, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, กล้ามเนื้อและข้อ, ระบบเลือด, ไต, ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
โรค SLE เป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ จะมีช่วงเวลาที่โรคกำเริบและช่วงเวลาที่โรคสงบสลับกันไป โดยอาการขณะกำเริบนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ และรู้วิธีดูแลตนเองเพื่อให้อยู่กับโรคนี้ได้ ผู้ป่วยก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้
ส่วนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค SLE จะมีทั้งการรักษาขณะที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ และการรักษาโรคในระยะยาวขณะโรคสงบเพื่อป้องกันการกำเริบ และภาวะแทรกซ้อนทั้งจากตัวโรคและผลข้างเคียงจากการรักษาโรค โดยรายละเอียด จะได้แสดงในตอนต่อไปค่ะ
สาเหตุของโรค SLE
สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครทราบแต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธ์กรรม, สิ่งแวดล้อมและระบบภูมิคุ้มกัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค โดยส่วนมากโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ อายุระหว่าง 15-35 ปีจะพบมาก โรค SLE ไม่ใช่โรคติดต่อไม่สามารถติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่คนอื่นๆได้ โดยมีปัจจัยหลักๆ ที่เป็นสาเหตุของโรค SLE ได้แก่1.ปัจจัยทางพันธุกรรม
จากการศึกษาพบหลักฐานที่สนับสนุนปัจจัยทางพันธุกรรมที่เอื้อต่อการเกิดโรค SLE มากขึ้น โดยพบอัตราการเกิดโรค SLE ในฝาแฝดที่เป็นแฝดชนิดไข่ใบเดียวกันจะมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันยังมีการค้นพบยีนบางตัวที่เอื้อต่อการเกิดโรค SLE จำนวนมากโดยยีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นยีนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานในร่างกาย2.ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- ฮอร์โมนเพศหญิง เช่น estrogen เนื่องจากพบโรค SLE พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายหลายเท่า และยังมีข้อมูลสนับสนุนจากการติดตามกลุ่มที่รับฮอร์โมน estrogen ทั้งจากการกินยาคุมกำเนิด และจากการใช้ฮอร์โมนเสริมในวัยหมดประจำเดือนพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ ฮอร์โมน estrogen เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค SLE 1.5-2.1 เท่า
- แสงแดด พบว่าผู้ป่วยโรค SLE มักมีอาการกำเริบของโรคหลังสัมผัสแสงแดด
- การติดเชื้อบางอย่าสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อนิวเคลียสได้
- ยาบางชนิดก่อให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานต่อต้านตนเองได้
- สารเคมีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นซิลิกา ยาย้อมผม การสุบบุหรี่ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
ตอนต่อไปจะนำเสนออาการของโรค SLE โดยละเอียดติดตามใน โรค SLE ตอนที่ 2 อาการของโรค SLE
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น